โครงการเกาะพะลวย เกาะเศรษฐกิจพอเพียงสมบูรณ์แบบ
- หมวด: โครงการ
- เผยแพร่เมื่อ: วันอังคาร, 13 ธันวาคม 2559 10:13
- เขียนโดย Super User
“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
ของพระเจ้าอยู่หัวเป็นหนทางอันประเสริฐที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย มูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ จึงได้มีเป้าหมายที่ปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนต่างๆ ได้น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาอยู่ในวิถีชีวิตจริงกับโครงการแรก “ชุมชนเกาะพะลวย”
”เกาะพะลวย“
เป็นหนึ่งเกาะในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง อยู่ห่างจากเกาะสมุย ประมาณ 22 กิโลเมตร มีประชากรประมาณ 222 ครัวเรือน ประกอบอาชีพเกษตรและ การประมงเป็นหลัก ด้วยความ ห่างไกล และอุปสรรคในการเดินทางทำให้เกาะนี้กลายเป็นเกาะที่ถูกลืม เมื่อชาวเกาะได้รวมตัวกันโดยมีเป้าหมายที่อยากจะยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้นในแบบพอเพียง และยั่งยืน โดยได้ร้องขอมาทางมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
จึงได้ลงพื้นที่ทำการสำรวจเก็บข้อมูลและร่วมประชุมปรึกษากับชาวบ้าน ศึกษาแนวคิด วิถีชาวบ้าน วิถีชุมชน ความต้องการของชาวบ้านและชุมชน จากนั้นจึงแนะนำให้ชาวบ้านได้เข้าใจในแนวทางปฏิรูปเกาะพะลวย นั่นก็คือการรวมตัวตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อให้ชุมชนนี้ได้รับการแบ่งสรรประโยชน์อย่างเป็นธรรม ด้วยศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
“ธุรกิจชุมชมพอเพียง”
การรวมตัวกันเพื่อทำธุรกิจเพื่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นรีสอร์ท ร้านค้า ร้านอาหาร ทุกอย่างคือการสร้างงานให้ลูกหลานชาวเกาะ โดยมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ จะเข้าไปให้ความรู้ และกระบวนการจัดการในรูปแบบสหกรณ์ การทำธุรกิจเพื่อการคืนทุนให้ชุมชน ให้สังคม การสร้างวัฒนธรรมชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันจากพลังธุรกิจจากภายนอก สร้างแนวทางชุมชนพอเพียงที่ยั่งยืนให้ลูกหลานได้เรียนรู้และภูมิใจในถิ่นกำเนิดเกาะพะลวย “เกาะพอเพียง” และจะประสานขอความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนหลายๆ ฝ่ายอีกต่อไป
ขอขอบคุณภาพจาก www.energythai.com
"เกาะพะลวย" อยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ตัวเกาะตั้งอยู่ห่างจากเกาะสมุยออกไปประมาณ 22 กม. เนื้อที่บางส่วนของเกาะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาะพะลวยคือ การเป็น " Green Island" เป็นเกาะพลังงานสะอาดต้นแบบของประเทศที่ใช้พลังงานทดแทนบนเกาะเต็มพื้นที่ 100 % มาตั้งแต่ปี 2554 และยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การใช้พลังงานสะอาดในชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย
การเดินทางไปเกาะพะลวยนั้นสามารถนั่งเรือจากท่าเรือดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ราวๆ 2 ชั่วโมง พออิ่มตากับพื้นน้ำและท้องฟ้า ก็จะถึง “เกาะพะลวย”บนเกาะมีทั้งที่พักแบบรีสอร์ท แบบโฮมสเตย์เพื่อลิ้มลองวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน หรือจะกางเต็นท์นอนเพื่อสัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริงก็ได้
วิถีชีวีตของชาวเกาะพะลวยส่วนใหญ่มีอาชีพทำประมง แต่ด้วยระยะหลัง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาวะความผันผวนของธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงมากมาย ส่งผลกระทบให้กับชาวเกาะพะลวยเป็นอย่างมาก จากเดิมสามารถออกเรือจับปลาเพื่อส่งไปขายบนฝั่งได้จำนวนมาก มีรายได้ที่เพียงพอต่อการยังชีพ เมื่อไม่สามารถจับปลาสร้างรายได้เหมือนเมื่อก่อน ชาวเกาะพะลวยจึงมีการปรับตัว ปรับเรือประมงที่ใช้ออกหาปลาเป็นเรือนำเที่ยวรอบเกาะพะลวยและหมู่เกาะอ่างท่อง สร้างรายได้ทดแทนอีกทางหนึ่ง
ด้านพลังงานไฟฟ้าที่ใช้บนเกาะเป็นพลังงานที่ได้มาจากแผงโซลาร์เซลล์ ไม่มีโรงผลิตไฟฟ้าเหมือนแผ่นดินใหญ่หรือเกาะใหญ่อื่นๆ บนเกาะมีอ่างเก็บน้ำสำหรับให้ชาวเกาะได้ใช้ในการอุปโภคอยู่บ้างแต่ไม่เพียงพอที่จะใช้สำหรับการเกษตรกรรม น้ำสำหรับการบริโภคนั้นชาวบ้านบนเกาะต้องอาศัยการรองน้ำฝนในช่วงฤดูฝน กักเก็บไว้ตามโอ่งน้ำและหากไม่มีเพียงพอต่อการต้องการ ต้องซื้อน้ำมาจากบนฝั่งและขนลงเรือเพื่อนำมาใช้งาน ดังนั้นน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคและไฟฟ้าจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวเกาะพะลวยในการดำรงชีวิต
ทางมูลนิธิฯ ได้เริ่มหาแนวทางช่วยเหลือเพื่อพัฒนาให้ชุมชนชาวเกาะพะลวยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลายปัญหาที่ต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ ทางมูลนิธิฯ ก็ช่วยเป็นตัวประสานให้เกิดการจัดการแก้ไขให้ดีขึ้น แต่สำหรับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ทางมูลนิธิฯ มองเห็นถึงศักยภาพของเกาะแห่งนี้ แต่ก็ไม่อยากให้เป็นการพัฒนาแบบวูบวาบฉาบฉวย โจทย์สำคัญที่ต้องนำกลับมาคิดก็คือ ทำอย่างไรให้ผลประโยชน์นั้นเกิดขึ้นและตกอยู่กับพี่น้องประชาชนเจ้าของพื้นที่เป็นที่ตั้ง นี่จึงเป็นที่มาของ “การสร้างความเป็นเจ้าของ” เกาะพะลวยด้วย “กระบวนการมีส่วนร่วม” อันเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั่นเอง
เมื่ออาชีพดั้งเดิมไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอ ก็ต้องหันไปมองศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เพราะเห็นได้ว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติแวะเวียนมาเที่ยวที่เกาะพะลวยมากขึ้น และต้องบวกกับการนำระบบสหกรณ์เข้ามาใช้ ทั้งการจัดตั้งร้านค้า การทำรีสอร์ท หรือโฮมสเตย์ ซึ่งเมื่อได้อธิบายให้ชุมชนฟังว่ามูลนิธิฯ เข้ามาทำงานเพื่อสร้างความหวังร่วมกันแต่ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่พี่น้องประชาชนจริงๆ ระบบสหกรณ์จะเป็นเสมือนเกราะป้องกันผลประโยชน์ต่างๆ การทำมาหากินบนเกาะแห่งนี้ ชุมชนจะรับรู้ เห็นชอบ และรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งจะเป็นไปในแนวทางที่มูลนิธิฯ ตั้งเป้าหมายไว้คืออยู่ด้วยวิถี “เศรษฐกิจพอเพียง” คือการพัฒนาเกาะพะลวยเป็นเกาะเศรษฐกิจพอเพียงสมบูรณ์แบบ สร้างการเป็นเจ้าของ โดยกระบวนการมีส่วนร่วม ใช้รูปแบบ "สหกรณ์" โดยมี
1. รูปแบบตรวจสอบได้
2. รวมทุน
3. กระบวนการจัดการ
4. เป็นนิติบุคคล มีกฏหมายรองรับ
และที่สำคัญ
5. ผลประโยชน์ร่วมการจายทั่วถึง
ปัจจุบันมูลนิธิฯได้ดำเนินการส่งทีมงานลงพื้นที่เพื่อพบปะพูดคุยกับชาวเกาะพะลวย รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อทำการวางแผนช่วยเหลือในลำดับต่อไป